เงินอุดหนุนเด็กเล็กเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

2 พฤศจิกายน 2561

เงินอุดหนุนเด็กเล็กเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

     หลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ได้นำแนวคิดการคุ้มครองทางสังคมแก่เด็กปฐมวัย โดยให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กไปดำเนินการ เพื่อช่วยประกันว่าเด็กทุกคนจะได้รับการพัฒนาที่ดี เงินอุดหนุนเด็กเล็กสามารถช่วยป้องกันการเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของเด็กได้ โดยที่เด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนจะได้รับการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ มีการเจ็บป่วยที่น้อยลง และเมื่อพวกเขาโตขึ้น ก็มีผลการเรียนที่ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุน 

     การให้เงินอุดหนุนเด็กเล็ก ถือว่า “คุ้มค่า”หากมองในเชิงโครงสร้างพบว่าจำนวนประชากรเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มลดลง ตรงกันข้ามกับจำนวนประชากรสูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี  สถานการณ์เด็กปฐมวัย 0 – 5 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วง “วัยทองคำ” ปรากฎว่า ปัญหาทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ยังคงเป็นประเด็นท้าทาย มีพัฒนาการล่าช้าถึงร้อยละ 30 ซึ่งจะมีผลอย่างยิ่งต่อการศึกษาเรียนรู้ในระดับการศึกษาในขั้นต่อๆ ไป

     โดยสาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กมีพัฒนาการที่ล่าช้ามาจาก 3 สาเหตุ คือ (1) ขาดภาวะโภชนาการที่ดีและมีคุณค่า (2) ปัจจัยการเลี้ยงดูหรือคนเลี้ยงมีปัญหา และ (3) ระบบส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล เงินที่ได้จากโครงการนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระให้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็กสามารถนำไปใช้เป็นค่าอาหารที่มีประโยชน์สำหรับแม่ในช่วงให้นมลูก ค่าเดินทางไปหมอ (ทำให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น) หรือซื้อของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก         

      - อัตราเงินช่วยเหลือที่เหมาะสมเพื่อหลุดพ้นจากความยากจนที่รุนแรงจะอยู่ที่25.12 เหรียญสหรัฐ ต่อเดือน หรือ คิดเป็นเงินไทยที่ 804 บาท   

      - กรณีที่อยากขยายระดับการช่วยเหลือ ก็อาจขยายไปถึงร้อยละ 15 ของรายได้ต่อหัวประชากร สำหรับประเทศไทยมีรายได้ต่อหัวประชากรในปี พ.ศ. 2557 ที่ 5,997 เหรียญสหรัฐต่อปี หรือ 499.5 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ( 15,992 บาทต่อเดือน) เงินอุดหนุนเด็กเล็กจึงอาจเพิ่มไปจนถึง  2,400 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศสามารถกำหนดอัตราตามสถานะทางเศรษฐกิจซึ่งอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่า

      - สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุผลการศึกษาเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ด้านอาหารของเด็กเล็ก พบว่าค่าใช้จ่ายรายเดือนอยู่ราว 579–812บาท สำหรับช่วงวัย 0-3ปี  แต่ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มสูงขึ้นมากหากนับเอาค่าใช้จ่ายด้านการเลี้ยงดู และการสูญเสียรายได้จากการเลี้ยงดู 

     - ระดับเงินอุดหนุนที่ 600 บาท ถือว่าเท่ากับอัตราขั้นต่ำของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเท่ากับการยืนยันในเรื่องสิทธิเด็กที่เท่าเทียมกับผู้ใหญ่

     จากผลการศึกษาพบว่า การลงทุนในเด็กเล็กจะได้รับผลตอบแทนในระยะยาวกลับมา 7 เท่า ดังนั้นเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจึงเป็นการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่า ให้เด็กได้เติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญและเป็นการสร้างรากฐานที่เข้มแข็งในการร่วมพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

 

 

Tag :

แผนผังเว็บไซต์