เงินอุดหนุน

เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็ก คือ รูปแบบสวัสดิการพื้นฐาน เพื่ออุดหนุนค่าใช้จ่ายเพื่อให้เด็กมีความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ โดยเงินอุดหนุนฯ จะเป็นเงินที่รัฐจ่ายให้กับผู้เลี้ยงดูเด็กอย่างสม่ำเสมอ เช่น รายเดือน โดยผู้รับไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ
ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายล้วนจัดให้ มีเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็ก รวมถึงประเทศกำลังพัฒนา อาทิ อินโดนีเซีย จีน มองโกเลีย ศรีลังกา บราซิล อาเจนตินา เม็กซิโก ชิลี แอฟริกาใต้ เคนย่า มาลาวี
ซึ่งคณะรัฐมนตรีไทยมีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 เห็นชอบหลักการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยให้เงินอุดหนุนแก่เด็กแรกเกิดที่อยู่ในครัวเรือนยากจนและครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจนที่เกิดระหว่าง วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 30 กันยายน 2559 รายละ 400 บาท ต่อคน ต่อเดือน เป็นเวลา 1 ปี โดยรัฐจ่ายให้กับมารดา หรือบิดา หรือผู้ปกครองผู้ดูแลเด็กแรกเกิด ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ขยายเวลาการให้เงินอุดหนุนเป็น 0-3 ปี เพิ่มเงินอุดหนุนเป็นเงิน 600 บาท ต่อคน ต่อปี ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการยกเลิกเงื่อนไขผู้มีสิทธิที่ต้องไม่เป็นผู้อยู่ในระบบประกันสังคม และเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 และเชื่อมโยงข้อมูลผู้มีรายได้น้อยตามโครงการ ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการของรัฐ นํามาใช้เป็นเกณฑ์กําหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการและปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบและรับรองสิทธิ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิด - 6 ปี และขยายฐานรายได้ของกลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ต่อปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นไป